ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีความสนใจในการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น
ไม่เพียงแต่การศึกษาถึงแนวทางการใช้สารสกัดจากกัญชาในขนาดและวิธีที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างถูกกฏหมายเท่านั้น
แต่ยังมีการศึกษาถึงการนำส่วนต่างๆของกัญชามาใช้โดยตรงในลักษณะของพืชสมุนไพรที่มิได้สกัดหรือผ่านกระบวนการที่ยุ่งยากทางห้องปฏิบัติการ
ซึ่งการศึกษาดังกล่าวยังมีอุปสรรคข้อขัดแย้งในการวิจัยประโยชน์ของการใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่หลายประเด็น เนื่องจาก
(1)
สารประกอบในกัญชา (endocannabinoids) มีหลากหลายชนิด
ไม่ใช่เฉพาะ THC และ CBD เท่านั้น จึงเป็นการยากที่จะประเมินขนาดและที่มาของการใช้กัญชาที่เหมาะสม
และไม่สามารถประเมินผลข้างเคียงของสารประกอบอื่นๆในกัญชาได้
(2)
การมี entourage effect ของกัญชา แนวคิดที่ว่า
การใช้กัญชาตามธรรมชาติให้ผลลัพธ์ดีกว่าการกินยาที่สกัดมาเป็น cannabinoids
บริสุทธิ์ ทำให้มีผู้หาวิธีเสพและใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ด้วยตนเองในขนาดและวิธีที่แตกต่างกัน
จึงไม่สามารถติดตามผลของการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นระบบได้
(3)
กัญชามีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท จึงเป็นการยากที่จะทำการศึกษาประสิทธิศักย์
(efficacy) ของกัญชาในรูปแบบ RCT ทำให้การศึกษาที่ผ่านมามีอคติในเชิงระเบียบวิธีวิจัยค่อนข้างสูง
ในประเด็นเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากสภาพจิตใจของผู้ป่วยมีผลต่อการประเมินผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาทางการแพทย์
แม้ปัจจุบันจะมีการศึกษาเรื่อง
ความปลอดภัยของการใช้สารสกัดจากกัญชา (isolated cannabinoids)
ที่เป็น RCT อยู่บ้างแต่งานวิจัยในลักษณะ RCT
ที่ประเมินความปลอดภัยของการใช้กัญชาโดยตรงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ยังมีไม่มากนัก
นอกจากนี้พบว่าผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเพื่อการรักษามักเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติการใช้กัญชาเพื่อผ่อนคลาย
(recreational use) อยู่แล้ว
และการใช้กัญชาเพื่อช่วยในการรักษายังถือเป็นแนวทางที่ค่อนข้างใหม่ ทำให้ขาดข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาว ผู้ป่วยบางรายที่ใช้กัญชาเพื่อการรักษามักเป็นโรคที่มีความผิดปกติในการทำงานของสมอง เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) หรือโรคอัลไซเมอร์อยู่แล้ว ทำให้การประเมินผลข้างเคียงของการรักษาด้วยกัญชาต่อสมองทำได้ยากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้หลักฐานเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้กัญชาทางการแพทย์ไม่ได้เป็นในทิศทางเดียวกันนัก
บางงานวิจัยก็ว่ากัญชาหรือสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ในการรักษาอาการปวดจากเส้นประสาท
(neuropathic
pain) และลดอาการเกร็ง (spasticity) แต่ไม่มีประโยชน์ที่แน่ชัดในการรักษาภาวะทางระบบประสาทอื่นๆ
เช่น โรคลมชัก (epilepsy) หรืออาการสั่น (tremors) บางงานวิจัยชี้ว่าการใช้กัญชาเสริมกับยาแผนปัจจุบันช่วยบรรเทาอาการปวดจากเส้นประสาทอย่างมีนัยสำคัญ
จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจัยที่ต้องทำการทดสอบเพื่อหาข้อสรุปในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัยต่อไป