ผลการศึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ในผู้ป่วยมะเร็ง
การศึกษาผลของการใช้กัญชาทางการแพทย์ในผู้ป่วยมะเร็งของ
Whiting
และคณะในปี 2015 ซึ่งได้รวบรวมงานวิจัย 28
ชิ้นที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อการลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด
งานวิจัย 23 ชิ้นจาก 28 ชิ้นมีความเสี่ยงต่ออคติ
(risk of bias) ค่อนข้างสูง การศึกษาทั้งหมดบ่งชี้ว่า สารสกัดจากกัญชาช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
แต่ผลลัพธ์ทางคลินิกนี้ไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลของการใช้กัญชาทางการแพทย์ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะงานวิจัยในสัตว์ทดลอง แม้จะเคยมีการศึกษาที่ทำในมนุษย์โดยตรง โดย Guzman และคณะ
ในปี 2006 แต่ยังเป็นเพียงงานวิจัยทางคลินิก Phase I เพื่อศึกษาความปลอดภัยของ THC โดยฉีดTHCเข้าไปที่ตัวมะเร็งโดยตรงในผู้ป่วย recurrent glioblastoma multiforme จำนวน 9
คน พบว่า THC ค่อนข้างปลอดภัยในการใช้กับผู้ป่วย
แต่ก็ไม่ได้มีผลเพิ่มอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วย
ผลการศึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ในผู้ป่วยเอดส์
พบว่าการใช้กัญชาไม่ว่าจะเป็นการสูบหรือการกินสารสกัดของกัญชา ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระดับของปริมาณไวรัส
(HIV viral load) ในผู้ป่วยเอดส์ได้ อย่างไรก็ตามการศึกษานี้เป็นการติดตามผู้ป่วยในช่วงระยะเวลาสั้นๆเพียง
21 วันเท่านั้น ส่วนการศึกษาของ Haney และคณะในปี
2005 ระบุว่า กัญชาและสารสกัดจากกัญชา (ในที่นี้คือ dronabinol)
ช่วยเพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้ออย่างมาก
(significant muscle loss) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก อย่างไรก็ตามการศึกษานี้มีข้อจำกัดตรงที่ผู้ป่วยอาสาสมัครได้รับอนุญาตให้สูบกัญชาที่บ้านได้
จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมขนาดของกัญชาที่ได้รับได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยนักวิจัยชุดเดิม
คือ Haney และคณะในปี 2007 รายงานว่า
การใช้กัญชาด้วยการสูบ มีผลของการเพิ่มความอยากอาหารไม่ต่างไปจาก dronabinol
แต่การศึกษานี้ก็มีข้อจำกัดที่อาสาสมัครล้วนมีประวัติการสูบกัญชามาก่อน