ผลของการเสพกัญชา ในระยะสั้นนั้นผู้เสพจะมีอาการเคลิบเคลิ้ม ผ่อนคลายเนื่องจากสารประกอบในกัญชากระตุ้นการหลั่งสาร dopamine
ในสมอง แต่การใช้กัญชามีผลเสียต่อการทำงานของสมองในหลายๆด้าน
ทั้งด้านความจำ การตัดสินใจ การควบคุมตนเอง และการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
ผู้ที่ไม่เคยใช้กัญชามาก่อนหรือผู้ที่ใช้กัญชาในระยะสั้นๆจะได้รับผลเหล่านี้มากกว่าผู้ที่ใช้กัญชาเป็นประจำ
เพราะผู้ที่ใช้กัญชาเป็นประจำจะมีความสามารถในการทนทาน (tolerance) มากกว่า
ผู้เสพกัญชาส่วนหนึ่งอาจเกิดอาการหูแว่ว
เห็นภาพหลอน หรือมี panic attack ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณ
THC ที่ได้รับ วิธีการเสพ สภาพร่างกาย จิตใจและความโน้มเอียงทางพันธุกรรมของผู้เสพว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดอาการทางจิตหรือไม่
การใช้กัญชาในขนาดที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
(fatal
cannabis overdose) พบได้น้อยเมื่อเทียบกับสารเสพติดกลุ่ม opioid อื่นๆ เนื่องด้วยการที่ cannabinoid receptors ไม่ปรากฏที่ก้านสมองของมนุษย์
มีรายงานว่าปริมาณที่เป็นอันตรายถึงชีวิต (lethal dose) ของTHC
ที่พบในสุนัข คือ 3 กรัมของ THC ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ผู้เสพกัญชาเป็นประจำจะได้รับในแต่ละวันเป็นอย่างมาก
ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนถึงปริมาณที่นับว่าอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตในมนุษย์
การเสพติดกัญชานั้น
หากเทียบกับสารเสพติดอื่นๆแล้วนับว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ Lopez-Quintero
และคณะ (2011) ระบุว่า
ภายในสิบปีหลังเริ่มเสพกัญชา มีผู้เสพประมาณร้อยละ 6 ที่เข้าเกณฑ์เป็นผู้เสพติด
substance dependence (transition-to-dependence probability) และความเสี่ยงสะสมตลอดชีวิต (life-time cumulative probability) ของ substance dependence มีค่าประมาณร้อยละ 9
ซึ่งเมื่อเทียบกับแอลกอฮอล์ พบว่า transition-to-dependence
probability มีค่าประมาณร้อยละ 11 และ life-time
cumulative probability มีค่าประมาณร้อยละ 23
ความกังวลต่อการใช้กัญชาในทางสาธารณสุข
คือ การใช้กัญชามักสัมพันธ์กับการใช้ยาเสพติดอื่นๆ การศึกษาที่ประเทศนิวซีแลนด์ได้ติดตามเด็กจำนวน
1,265 คนตลอด 25 ปี
พบว่าความถี่ของการใช้กัญชามีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญกับการใช้สิ่งเสพติดผิดกฎหมายอื่นๆ
นั่นคือกัญชาเป็นเสมือน gateway drug ของสิ่งเสพติดอื่นๆอีกหลายประเภทโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น
การใช้กัญชาในระยะยาวมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางจิตเวชและส่งผลเสียต่อสมองในด้านความคิดและความจำ
การศึกษาที่ประเทศนิวซีแลนด์ได้วัดระดับสติปัญญา(IQ)ของผู้เข้าร่วมการศึกษาเมื่ออายุ 13 ปี และ 38
ปี จำนวน 1,037 คน พบว่าผู้ที่ใช้กัญชาอย่างต่อเนื่องหรือมีประวัติใช้กัญชาตั้งแต่อายุน้อย มีIQน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้กัญชาประมาณ
8 จุด ทารกที่มีมารดาใช้กัญชาระหว่างตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อพัฒนาการทางสมองในแง่ต่างๆ
ทั้งในแง่ความจำ การเรียนรู้ และเกิดปัญหาพฤติกรรม รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการเสพกัญชาเมื่อโตขึ้น
อย่างไรก็ตามการศึกษาของประเทศอังกฤษได้ให้ข้อมูลแย้งว่า การใช้กัญชาไม่ได้มีผลลด IQ ของผู้เสพ แต่ผล IQ ที่ลดลง น่าจะมาจากตัวแปรอื่นๆ
เช่นโรคประจำตัวของผู้ป่วยเอง หรือ การได้รับสารเสพติดอื่นๆ